ต่างชาติยืนยัน กรุงศรีอยุธยาเป็นมหานครแห่งทองคำ (ตอนที่ 1)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรื่อง เนื่องจากมีพ่อค้าวาณิชย์ นักบวช ทูต และชาวตะวันตกเข้ามาค้าขาย เจริญสัมพันธไมตรีและอยู่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาจำนวนไม่น้อย บุคคลเหล่านี้แม้จะมาจากชาติที่เจริญก้าวหน้าด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแต่เมื่อได้มาเห็นปราสาทราชวังของอยุธยา ถึงกับตะลึงในความวิจิตรตระการตาที่ทุกสิ่งอย่างล้วนเหลืองอร่ามไปด้วยทอง จนต้องนำไปเขียนเล่าและพิมพ์เป็นหนังสือออกเผยแพร่ในยุโรปมากมายหลายเล่ม โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดา เป็นหนึ่งในพ่อค้าจากชาติตะวันตกที่มาประจำการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 8 ปี ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้เขียนบันทึกไว้ใน“จดหมายเหตุโยส เซาเตน” เมื่อ พ.ศ.2179 ความว่า “...พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหารซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์เจดีย์และรูปปั้นรูปหล่ออย่างมากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุข เหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้...” บันทึกรายวันของ บาทหลวงเดอชัวซีย์ หนึ่งในคณะราชทูตเชอวาเลียร์ เดอ โชมอง ก็ได้ยืนยันความงดงามของกรุงศรีอยุธยาไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม” ว่า  “...เมื่อออกไปกลางแจ้ง ใครๆก็คงจะต้องเห็นช่อฟ้าหลังคาโบสถ์และยอดพระเจดีย์ซึ่งปิดทองถึง ๓ ชั้น มีอยู่ดารดาษทั่วไปดูออกสะพรั่งพราวตา ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ว่าข้าพเจ้าจะทำให้ท่านนึกเห็นสิ่งงามๆเหล่านี้ไปด้วยหรือไม่ ขอจงเชื่อเถิดว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นสิ่งใดที่จะสวยงามยิ่งไปกว่านี้...” ในจดหมายเหตุของนายแพทย์ เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ ชาวเยอรมันซึ่งเข้ามากับคณะทูตฮอลันดาในสมัยพระเพทราชา กล่าวไว้ใน “ไทยในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์” ว่า “...ในกรุงมีโบสถ์วิหารอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มีบริเวณพอสมกับถนนและเต็มไปด้วยสถูปเจดีย์ปิดทองขนาดต่างๆ ความใหญ่โตไม่เท่าโบสถ์ของเรา แต่ความงามภายนอกนั้นยิ่งกว่ามากนัก เพราะมีช่อชั้นหลังคางอนซ้อนสลับกันเป็นอันมาก...ในบรรดาชาติผิวคล้ำแห่งเอเชียทั้งหลาย สยามเป็นราชอาณาจักรอันเกรียงไกรยิ่งใหญ่ที่สุด และราชสำนักนั้นเล่าก็วิจิตรมโหฬารหาที่เสมอเหมือนมิได้...” ส่วนจดหมายเหตุของ นิโกลาส์ แชรแวส ซึ่งร่วมคณะราชทูตฝรั่งเศสของ เชอวาเลียร์ เดอ โชมอง เข้ามาในปี ๒๒๒๘ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ว่า “...พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุดเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิษฐ์ประดับไว้ให้รุ่งระยับ...” ในจดหมายชองบาทหลวง มองเซนเยอร์ เดอ โดลลิแยร์ ที่มีไปถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2292 กล่าวว่า “...ได้มีคนไปพบบ่อทองคำซึ่งมีทองคำอยู่บนพื้นดินใกล้กับเมืองกุย ซึ่งเปนหัวเมืองขึ้นแก่ไทย อยู่ทางทิศตะวันตกอ่าวสยาม ทองคำที่พบคราวนี้มีมากและเป็นทองเนื้อดีด้วย ทองที่ร่อนมาได้ในคราวแรกนั้น พระเจ้ากรุงสยามได้เอาไปหล่อเป็นรูปพระพุทธบาท ทำรูปเหมือนกับพระพุทธบาทจำลองที่สลักในก้อนศิลา ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไม่เท่าไรนัก แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้เอาทองคำนั้นทำเป็นดอกบัวดอกใหญ่ สำหรับประดับพระพุทธบาทในเวลาแห่...” (ติดตามต่อตอนที่ 2) ขอขอบคุณข้อมูลจากโรม บุนนาค ผู้จัดการออนไลน์