ทองคำและเครื่องประดับทองในกัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนยังคงนิยมบริโภคทองคำไม่เคยเปลี่ยน แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวกัมพูชาจะเปลี่ยนไปโดยหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้ามากขึ้น ทั้งนี้เพราะเห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอน การถือครองทองคำและเครื่องประดับทองจึงเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงที่สุด ปัจจุบันชาวกัมพูชามีรายได้มากขึ้น จึงนิยมซื้อทองคำและเครื่องประดับทองเก็บสะสมไว้ที่บ้านและนำไปฝากไว้กับธนาคารโดยเฉพาะที่ธนาคารCanadia Bank Plc. ธนาคารร่วมทุนระหว่างบริษัทสัญชาติแคนาดากับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา  กว่าครึ่งหนึ่งของบัญชีเงินฝากในธนาคารนี้เป็นบัญชีฝากประจำในรูปของทองคำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมสะสมทองคำของชาวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี ส่วนรูปแบบเครื่องประดับที่ชาวกัมพูชานิยมซื้อนั้นยังคงเป็นเครื่องประดับทอง 24 กะรัต ทั้งเพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์และสวมใส่ในเทศกาลหรือโอกาสสำคัญต่างๆเพื่อแสดงฐานะ และยังนิยมซื้อเครื่องประดับทอง 18 กะรัต และ 14 กะรัต สไตล์อิตาลีสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และมอบเป็นของขวัญให้แก่คนพิเศษ นอกจากนี้ ชาวกัมพูชายังนิยมเก็งกำไรจากการลงทุนในทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในการซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) จึงมีบริษัทการลงทุนที่เปิดให้บริการซื้อ-ขายทองคำออนไลน์และซื้อขายทองคำล่วงหน้า หลายแห่ง ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากัมพูชานำเข้าทองคำรวม 2,952 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการนำเข้าทองคำส่วนใหญ่เพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์ ออมแทนเงินสด และการเก็งกำไร อีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับทอง ซึ่งกิจการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน ที่มักเปิดเป็นร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองและมีช่างฝีมือของตนเอง โดยเน้นงานที่ทำด้วยมือเป็นหลัก และมีรูปแบบเครื่องประดับที่เรียบง่ายส่วนใหญ่เป็นการผลิตทองรูปพรรณ 24 กะรัต บางรายผลิตเครื่องประดับทอง 18 กะรัตสำหรับใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งด้วยอัญมณีต่างๆ และมีบางรายผลิตเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ต่ำกว่า 9 กะรัต  รวมถึงมีการนำเครื่องประดับเงินมาชุบทองคำ  ส่วนเครื่องประดับทองขาวและทองสามกษัตริย์สไตล์อิตาลีส่วนใหญ่นำเข้าผ่านฮ่องกง และสิงคโปร์ ราคาทองคำในกัมพูชามักอ้างอิงตามราคาทองคำในตลาดโลก โดยใช้หน่วยวัดน้ำหนักเป็น ชิ (Chi) และตำลึง (Domlung) ซึ่ง 10 ชิเท่ากับ 1 ตำลึง และ 1 ตำลึงเท่ากับ 1.2 ทรอย-ออนซ์ หรือเท่ากับ 37.49 กรัม ดังนั้น 1 ชิ มีค่าเท่ากับ 3.749 กรัม ส่วนการระบุค่าความบริสุทธิ์ของทองคำนั้น จะระบุเป็นส่วนในพันส่วน เช่น ทองคำ 24 กะรัต หมายถึงทองคำที่มีค่าความบริสุทธ์ 99.999% เป็นต้น

เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/