มาตรฐาน Hallmark

เมื่อปี 2560 สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (GIT) ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานระดับโลหะมีค่า (Hallmark) เพื่อวางมาตรฐานการตรวจสอบรับรองคุณภาพโลหะมีค่าให้กับผู้ประกอบการเครื่องประดับและอัญมณีของไทย  ว่ามีเปอร์เซ็นต์ทองคำหรือเงินกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ เทียมเท่ามาตรฐานสากล ในช่วงแรกการออกมาตรฐาน Hallmark ให้เป็นไปโดยความสมัครใจก่อน โดยลักษณะของตรา Hallmark ที่จะประทับบนผลิตภัณฑ์มี 3 รูปแบบคือ ตราของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ตราที่ระบุว่าเป็นทองกี่เปอร์เซ็นต์ และตราของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมซื้อทองและเครื่องประดับทองเพื่อการลงทุนมากขึ้น แม้ตามร้านทองทั่วไปจะมีการระบุเปอร์เซ็นต์ทอง 96.5% ไว้แล้วแต่ในทางปฏิบัติบางครั้งเปอร์เซ็นต์ทองอาจไม่ถึงตามที่ป้ายกำหนดไว้ แต่หากผู้ประกอบการนำทองเข้ามาตรวจสอบกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ และมีการออกใบรับรองให้ไป ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อมากขึ้น การดำเนินการในช่วงแรกผู้ประกอบการขายทองคำ หรือร้านทองตู้แดง อาจมีความกังวลใจถึงภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบ้าง แต่ในอนาคตหากไทยสามารถทำให้เครื่องหมายมาตรฐานHallmark ได้รับการยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกับประเทศผู้ซื้อสหรัฐ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ก็จะช่วยให้สามารถส่งออกทองคำและเครื่องประดับ ได้มากขึ้น ใบรับรอง Hallmark  จึงถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทยให้เทียบเท่าประเทศผู้ค้าทองสำคัญๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ มาตรฐานนี้จะไม่ส่งผลกระทบด้านต้นทุน เพราะเป็นการสมัครใจ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ผลิตที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับสินค้า ปัจจุบัน สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทองเป็น 1 ใน 5 สินค้าที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายผลักดันไทยให้เป็นฐานการค้าอัญมณีของโลก เหมือนสิงคโปร์ที่เป็นฐานการค้าที่สำคัญ  สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับจึงจะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มทองและเครื่องเงินในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ให้การยอมรับมาตรฐาน Hallmark ของไทย เช่นเดียวกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าเหล่านั้น และอาจจะพิจารณายกร่างเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/