สัมพันธ์สองราชสำนัก สยาม-รัสเซีย

กล่องใส่พระโอสถมวน (บุหรี่) ลงยาสีทองที่มีตรามงกุฎรัสเซียประดับเพชร มีข้อความจารึกภายในว่า“From Your Friend Nicholas 1897” จากฝีมือของฟาแบร์เชร้านเครื่องทองหลวงประจำราชสำนักรัสเซีย เป็นของที่ระลึกหนึ่งในหลายชิ้นจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัชเซียมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นดุจพี่น้อง ตั้งแต่ครั้ง พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จเยือนสยามอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ซาร์เรวิช แกรนด์ ดยุค นิโคลัส (Tsarevich Grand Duke Nicholas) มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ซึ่งสยามได้จัดงานต้อนรับอย่างใหญ่โตสมพระเกียรติที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดพระราชวังสราญรมย์เป็นที่ประทับแก่ซาร์เรวิช ทั้งยังจัดพิธีพระราชทาน “เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของไทยให้แก่ซาร์เรวิช อันถือเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ว่าได้รับพระราชอาคันตุกะแห่งราชวงศ์จักรี และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูชั้นที่ 1 อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของรัสเซียแก่องค์พระพุทธเจ้าหลวงแห่งสยามด้วยเช่นกัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของกษัตริย์สิงราชวงศ์ ความสัมพันธ์ของสองปิยะมิตรแสดงให้เห็นอีกครั้งเมื่อ เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทรงมารอรับเสด็จด้วยพระองค์เองถึงสถานีรถไฟ และได้ทูลเชิญเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof Palace) หรือพระราชวังฤดูร้อน ตลอดช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในรัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ให้การรับรองในหลวงรัชกาลที่ 5 แห่งสยามอย่างดียิ่งประหนึ่งพระญาติ ด้วยทรงรักใคร่และให้ความเคารพนับถือในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก ถึงขนาดเคยมีรับสั่งว่า “เขา (ร. 5) คือพี่ชายของฉัน” ในการนี้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทราบถึงความกังวลพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในเรื่องเหตุบ้านการเมือง ที่กำลังถูกชาติตะวันตกแสดงแสนยานุภาพด้วยการล่าอาณานิคมพระองค์ก็ไม่ทรงรีรอที่จะช่วยเหลือ โดยโปรดฯ ให้ฉายพระรูปคู่กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ L’Illustration ของฝรั่งเศส เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น พระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 พระองค์ ก็ได้ปรากฎอยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั่วฝรั่งเศส และไม่นานนักก็ได้ไปปรากฎบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ถือเป็นการประกาศความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสยามและรัสเซียและทำให้สยามรอดจากการล่าอาณานิคมในครั้งนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาแห่งการลาจาก พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ถวายของที่ระลึกจำนวนมากแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งล้วนเป็นฝีมือของฟาแบร์เช ช่างทองหลวงแห่งราชสำนักรัสเซีย ซึ่งนอกจากของที่ระลึกกล่องพระโอสถมวนจากพระเจ้าซาร์แล้ว ฟาแบร์เชก็มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ราชสำนักสยามอีกหลายต่อหลายครั้ง  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้ทำขึ้นเช่น บาตรน้ำมนต์ หีบพระโอสถมวน กรอบใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯเป็นต้น