ออสเตรเลีย ตลาดส่งออกเครื่องประดับทองของไทย

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย  ปี 2559 ที่ผ่านมา ออสเตรเลียนำเข้าเครื่องประดับเงินและทองคำกึ่งสำเร็จรูปจากไทยมากที่สุดเนื่องจากมีความโดดเด่นทั้งฝีมือปราณีตและมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือและกำไลข้อมือ ยังเป็นสินค้ายอดนิยม ความจริงแล้วรสนิยมของคนออสเตรเลียในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับนั้นมีความคล้ายคลึงกับชาวตะวันตก คือนิยมเครื่องประดับที่เป็นเงินและเครื่องประดับทอง 9K ,18K ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราที่นิยมทองคำที่มีเปอร์เซ็นทองหรือความบริสุทธิ์มากกว่า โดยปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวออสเตรเลีย คือคุณภาพ ราคา และความคุ้มค่า รองลงมา คือ การโฆษณา การบอกต่อหรือการแนะนำของเพื่อนหรือคนรู้จักและการรับประกันสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับไทยได้รับการยอมรับอย่างมากในตลาดโลก เนื่องจากช่างไทยมีทักษะและฝีมือจึงทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับ เครื่องเงิน และทองรายใหญ่เป็นอันดับ 1 และอันดับ 9 ของโลก ตามลําดับ อย่างไรก็ดี ฮ่องกง อินเดีย และอิตาลี คือคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดออสเตรเลีย โดยฮ่องกงนั้นมีข้อได้เปรียบไทยที่ฝีมือการออกแบบเทียบเท่าผู้ผลิตในยุโรป อินเดียมีความพร้อมทั้งในด้านแรงงาน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมซอฟแวร์ที่ช่วยในกระบวนการผลิตและออกแบบ  ขณะที่อิตาลีมีความโดดเด่นในการผลิตเครื่องประดับคุณภาพสูง และมีอิทธิพลต่อการกําหนดทิศทางแฟชั่นและรูปแบบของเครื่องประดับของโลก อีกทั้งยังมีตราสินค้าของตนเองด้วย อย่างไรก็ตามไทยเราก็ยังมีข้อได้เปรียบจากแต้มต่อทางภาษี ตามข้อตกลง TAFTA และข้อตกลง AANZFTA (ภาษี 0%) ประกอบกับ ผู้ประกอบการไทยมี ศักยภาพในการผลิตเครื่องประดับแท้ส่งผลให้ไทยเป็น แหล่งนําเข้าเครื่องประดับแท้รายใหญ่อันดับ 1 ของออสเตรเลีย ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25 ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับแท้ทั้งหมด (คิดเฉพาะเครื่องประดับแท้ไม่รวมเครื่องประดับเทียม) โดยในปี 2559 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากปาปัวนิวกินี และญี่ปุ่น  มีมูลค่ารวม 782 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 237 เมื่อเทียบกับปี 2558 สินค้านำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ ทอง มูลค่า 539.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 เครื่องเพชร พลอย รูปพรรณและส่วนประกอบ มูลค่า 209.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.8 และเครื่องอัญมณีและเครื่องประดับเทียม มูลค่า 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-tom/gold-rate/